Settaluck Legal | จดทะเบียนสมรสแล้ว อะไรคือสินส่วนตัว – สินสมรส
16744
post-template-default,single,single-post,postid-16744,single-format-standard,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-theme-ver-10.1.1,wpb-js-composer js-comp-ver-5.0.1,vc_responsive
 

จดทะเบียนสมรสแล้ว อะไรคือสินส่วนตัว – สินสมรส

จดทะเบียนสมรสแล้ว อะไรคือสินส่วนตัว – สินสมรส

เมื่อชายและหญิงได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายการสมรสนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์อันก่อให้เกิดความสัมพันธ์กันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทั้งทางด้านครอบครัว ทางด้านความสัมพันธ์หลังจากจดทะเบียนสมรส ทั้งทางด้านทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งเรื่องทรัพย์สินเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในระหว่างสมรส ทรัพย์สินต่าง ๆ ของแต่ละฝ่าย ที่มีอยู่ก่อนสมรสหรือจะมีขึ้นภายหลังจากการสมรสก็ต้องมีการแบ่งแยกทรัพย์สินซึ่งเราควรที่จะรู้ถึงความหมายของ ทรัพย์สินเหล่านั้น โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทตามกฎหมาย กล่าวคือ 1.สินส่วนตัว 2.สินสมรสโดยจะขอแยกรายละเอียดให้เข้าใจได้ดังต่อไปนี้

ก. สินส่วนตัว

(1) ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส หรือมีอยู่ก่อนการจดทะเบียนสมรสไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น บ้าน ที่ดิน เงิน ทอง มือถือ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ อื่น ๆ เป็นต้น ถ้ามีอยู่ก่อนสมรสกันแล้ว กฎหมายให้ถือว่าก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้นั้น  แนะนำว่าให้ทำบันทึกก่อนสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อให้มีหลักฐานแสดงแบ่งแยกชัดเจนว่าอะไรคือสินส่วนตัวอะไรคือสินสมรส
(2.) ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้มาหลังจากจดทะเบียนสมรสโดยการรับมรดกจากบิดามารดา หรือได้รับมาโดยมีคนให้มาเป็นการส่วนตัว ถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละคนไป เช่น นาย ก เอ็นดู นาง ข มาก ๆ เปรียบเสมือนลูกคนหนึ่งแม้ไม่ใช่ลูกหลานก็ตาม จึงยกที่ดิน รถยนต์ รวมทั้งเงินฝากในธนาคารให้ 10 ล้านบาท แก่นาง ข เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นสินส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งควรต้องเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ กรณีที่จำเป็นต้องพิสูจน์ในวันใดวันหนึ่ง เช่น กรณีเจ้าหนี้ของคู่สมรสอีกฝ่ายจะมาบังคับคดีในส่วนของสินสมรส ซึ่งไม่สามารถยึดบังคับคดีในส่วนของสินส่วนตัวของคู่สมรสอีกฝ่ายได้

(3.) ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับกาย หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกฎหมายก็ให้ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น แว่นตา เครื่องประดับกาย สร้อยคอ แหวน กำไล ต่างหู หากเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพก็ต้องดูว่าอาชีพนั้นจำเป็นต้อง ใช้เครื่องมืออะไรบ้างเป็นหลัก  บางท่านอาจแปลงทรัพย์สินสมรสเป็นสินส่วนตัวโดยการไปซื้อเครื่องประดับกายแทนเพื่อให้เป็นสินสมรส แต่ต้องให้สอดคล้องกับเจตนาของกฎหมาย หากกระทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นสินสมรสแล้ว กฏหมายก็ไม่คุ้มครอง ในทางปฏิบัติศาลจะมองถึงความเป็นจริง และความเหมาะสมเป็นสำคัญกว่าการวัดที่ตัวทรัพย์สิน
(4.) ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้นำมาหมั้นฝ่ายหญิง ตามกฎหมายแล้วให้ถือเป็นสินส่วนตัวของหญิง ไม่ว่าทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นนั้นจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นอะไรก็ตามเช่น รถยนต์ บ้าน ที่ดิน ทอง หากนำไปขายได้เงินมาเท่าไหร่ เงินนั้นก็จะไม่กลายเป็นสินสมรสอย่างแน่นอน แต่ยังคงเป็นสินส่วนตัวอยู่เช่นเคย หรือในกรณีที่ของหมั้นนั้นเป็นเงินหากนำเงินนั้นไปซื้ออะไรมาไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ ก็ยังคงเป็นสินสวนตัวอยู่เช่นเดิม
ข.  สินสมรส
(1.) ทรัพย์สินใด ๆ ที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส ซึ่งหมายถึง ทรัพย์สินอื่น ๆ อันนอกเหนือจากสินส่วนตัวไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าหากคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นได้รับมาก็ให้ถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น อาจจะเป็นเงินเดือน เงินโบนัส เงินรางวัลจากลอตเตอรี่ เป็นต้น หลัก ๆ เงินที่ทำมาหาได้รวมกันในระหว่างการสมรสถือได้ว่าเป็นสินสมรสรวมกันระหว่างสามีภริยา เช่นนี้หากสามีนำเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสที่เป็นสินสมรสไปซื้อ บ้าน ผ่อนคอนโด ซื้อที่ดิน หรือแม้กระทั่งรถยนต์ แต่ใส่ชื่อตนเองเป็นผู้ซื้อ หากจะขายหรือโอนให้ใคร ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสมรส ไม่เป็นสินส่วนตัวอย่างที่คิด
(2.) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม โดยพินัยกรรมนั้นต้องระบุให้ชัดเจนว่า ยกให้เป็นสินสมรสของใครกับใคร เช่น นาย ก ทำพินัยกรรม ยกทรัพย์สินให้เป็นสินสมรสระหว่าง นาย ข กับนาง ค เช่นนี้เป็นสินสมรส แต่ถ้าหากว่า นาย ก ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ นาย ข แต่เพียงผู้เดียวถือได้ว่าเป็นสินส่วนตัวมิใช่เป็นสินสมรสแต่อย่างใด
(3.) ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลที่ได้จากสินส่วนตัว คำว่า “ดอกผล” ตามกฎหมายแล้วหมายถึงผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามทั่วไป หรืออาจเกิดขึ้นจากความผูกพันตามกฎหมายก็ได้ เช่น การนำสินส่วนตัวซึ่งเป็นบ้านเช่า ออกให้เช่า เงินค่าเช่าถือได้ว่าเป็นสินสมรส หรือ การนำเงินไปฝากธนาคาร ธนาคารให้ดอกเบี้ยมา ดอกเบี้ยนั้นถือได้ว่าเป็นสินสมรส เป็นต้น

ปัญหาที่พบโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

หากปรากฏภายหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว สามีได้นำสินสมรสไม่ว่าอะไรก็ตามยกให้ผู้อื่นเช่นนี้ ภริยาสามารถเรียกร้องคืนได้เพราะภริยามีสิทธิ์ครึ่งหนึ่งในสินสมรส เช่น นาย ก เป็นสามี นาง ข ได้ทำพินัยกรรมทั้งหมด ยกที่ดิน บ้าน รถยนต์ บัญชีเงินฝากธนาคาร และทรัพย์สินอื่น ๆ โดยระบุ ให้ นาง ค ใครก็ไม่รู้ไม่ใช่ลูกไม่ใช่เมีย เช่นนี้หากนาย ก ตาย ทรัพย์ที่ระบุในพินัยกรรมต้องหารครึ่งทั้งหมด จะยกให้ใครที่ไหนก็ไม่รู้ไปทั้งหมดไม่ได้ เพราะมันเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยากัน แต่ทั้งนี้หากปรากฏว่าทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรมนั้นเป็นสินส่วนตัว  สินส่วนนั้นสามารถยกให้ไปหมดก็ได้ตามพินัยกรรม ภริยาจะไปทักท้วงว่าเป็นสินสมรสไม่ได้

ที่มา: บทความในนิตยสาร “บันทึกคุณแม่” คอลัมส์ “กฎหมายน่ารู้” 

โดย ชัชวัสส์  เศรษฐลักษณ์ ที่ปรึกษากฎหมาย-ธุรกิจ/ ทนายความ อดีตพิธีกรรายการ 

“คุยกฎหมายกับทนายมวลชน”

ฉบับเดือน มกราคม 2559 (Vol.23 Issue 270 January 2016/ Page 96-98)