Settaluck Legal | เมื่อลูกต้องไปเป็นบุตรบุญธรรมคนอื่น
16748
post-template-default,single,single-post,postid-16748,single-format-standard,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-theme-ver-10.1.1,wpb-js-composer js-comp-ver-5.0.1,vc_responsive
 

เมื่อลูกต้องไปเป็นบุตรบุญธรรมคนอื่น

เมื่อลูกต้องไปเป็นบุตรบุญธรรมคนอื่น

การยกลูกของตนเองให้เป็นลูกบุญธรรมคนอื่นหรือตามกฎหมายเรียกว่า “บุตรบุญธรรม” คงได้ยินกันมาบ้างแล้ว แต่มีทั้ง ทำตามธรรมเนียม และตามกฎหมาย ที่ได้รับความคุ้มครอง อาจเนื่องมาจากสาเหตุแตกต่างกันไป บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะมีความขัดสนด้านเงินทอง การยกบุตรให้เป็นบุตรคนอื่นอาจจะทำให้ลูกตนเองได้อยู่สุขสบาย และไม่เป็นภาระของพ่อแม่ หรือการที่ญาติพี่น้องไม่มีลูก อยากได้บุตรคนอื่นมาเป็นลูกแค่ในนาม หรือจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งพ่อแม่หลายท่านคงยังไม่ทราบว่าการดำเนินการตามกฎหมายนั้นมีผลผูกพันพ่อแม่ และผู้รับบุตรบุญธรรมอย่างไร มีผลกระทบและผลได้ผลเสียในเรื่องใดบ้าง 

การพิจารณาด้วยเหตุผลต่าง ๆ แล้ว ตกลงว่าจะยกลูกตนเองให้เป็นบุตรบุญธรรมคนอื่น มิใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกคน กฎหมายมีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้เพื่อคุ้มครองป้องกันตัวเด็กให้ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด ต้องมีความเหมาะสมในส่วนของผู้รับบุตรบุญธรรม โดยภาพรวมแล้ว  การยกลูกให้เป็นบุตรบุญธรรมนั้น เด็กต้องไม่มีชีวิตที่แย่ลง และมีความเหมาะสมในทุก ๆ ด้าน จึงจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งรัฐเองได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้หลายประการ เช่น

  1. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี  โดยจะเห็นได้ว่า ผู้รับบุตรบุญธรรมควรมีวุฒิภาวะในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสม มิใช่ยังเป็นเด็ก หรือยังเป็นวัยรุ่นอยู่ อีกทั้งความห่างของช่วงอายุนั้น ใช้ในการกำหนดอำนาจปกครองของผู้รับบุตรบุญธรรมได้อย่างเหมาะสม หากอายุใกล้กันมากเกินไปอาจจะปกครองบุตรบุญธรรมไม่ได้
  2. ผู้ที่จะป็นบุตรบุญธรรมถ้ามีอายุมากกว่า 15 ปี เจ้าตัวต้องให้ความยินยอมด้วย เด็กที่โตกว่า 15 ปี เรียกกันว่าเป็นวัยรุ่นแล้ว การที่จะให้ใครมาเป็นพ่อแม่ ก็คงเกิดความรู้สึก จึงควรให้เด็กได้มีส่วนตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ ไม่ใช่ว่าพ่อแม่เห็นดีเห็นงามแล้วเด็กต้องเห็นด้วยเสมอไป เรื่องภาวะทางด้านจิตใจเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
  3. ผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากบิด มารดา เนื่องจากหากเด็กยังเล็ก ยังไม่อาจตัดสินใจได้รอบคอบ ผู้ปกครองจึงยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยพิจารณา
  4. ผู้เยาว์เป็นผู้ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ก็จะต้องให้สถานสงเคราะห์เด็กให้ความยินยอม ซึ่งมองคล้ายๆ กับว่าสถานสงเคราะห์เด็กนั้นเป็นผู้ปกครองมาก่อน จึงมีความเข้าใจ และรู้ว่าเด็กจะเข้ากับผู้รับบุตรบุญธรรมได้หรือไม่
  5. ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
  6. การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อ ได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ข้อนี้สำคัญ การยกลูกให้เป็นบุตรบุญธรรมทั่วไป ที่ไม่ได้จดทะเบียน โดยมีความเข้าใจว่าได้เป็นพ่อแม่ลูกกันจริง ๆ แล้วนั้น ไม่สามารถที่จะอ้างสิทธิตามกฎหมายได้ ดังนั้นหากจะได้รับความคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องแล้วจำเป็นที่จะต้องไปจดทะเบียนต่อหน่วยงานของรัฐเท่านั้น

เมื่อมีการรับบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ย่อมมีผลทางกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องตามมา โดยให้บุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม หมายถึงเปรียบเสมือนลูกที่คลอดออกมา  แต่บุตรก็ไม่เสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่เกิดมา คือบุตรนั้นยังคงมีสิทธิและหน้าที่ต่อพ่อแม่ที่แท้จริงอยู่เช่นเดิม เช่น มีสิทธิได้รับมรดก หรือมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบุพการีผู้ให้กำเนิด เป็นต้น

ส่วนพ่อแม่โดยกำเนิดจะหมดอำนาจปกครองนับแต่เวลาที่เด็กได้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้รับบุตรบุญธรรมไปแล้ว กล่าวคือ อำนาจปกครองบุตรจะไปอยู่ที่ผู้รับบุตรบุญธรรมจนกว่าจะปรรลุนิติภาวะ ผู้รับบุตรบุญธรรมมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษากับบุตรบุญธรรม กรณีเด็กทำผิดแล้วผู้ปกครองต้องรับผิดเช่น เด็กไปแข่งรถบนถนนถูกตำรวจจับ ผู้ที่ต้องรับโทษแทนจะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม ไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริงแล้ว  รวมทั้งเด็กจะมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตายด้วย ในทางกลับกันเมื่อเด็กที่ไปเป็นบุตรบุญธรรมต่อมาได้เติบโตและสามารถประกอบสัมมาอาชีพได้แล้วก็ต้องมีหน้าที่ให้การอุปการะเลี้ยงดูทั้งพ่อแม่ที่ให้กำเนิดและผู้รับบุตรบุญธรรมเช่นกัน

อำนาจปกครองบุตรจากเดิมเป็นของพ่อแม่ที่แท้จริง เมื่อยกลูกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นแล้ว อำนาจปกครองบุตรต่างๆ ดังต่อไปนี้ จะเป็นของผู้รับบุตรบุญธรรมทันที

  1. การกำหนดที่อยู่ของบุตร เช่น ให้อยู่ที่ไหน จังหวัดไหน อยู่กับใคร จะส่งผลถึงการได้พบเจอ ยากหรือง่าย
  2. ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
  3. ให้บุตรทำงานตามสมควร
  4. เรียกบุตรคืนจากคนอื่นซึ่งกักตัวบุตรไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  5. การกำหนดการศึกษาต่าง ๆ

ทั้งนี้อำนาจปกครองบุตรบุญธรรมจะสิ้นสุดลงไปด้วยเหตุ 3 ประการนี้

  1. เมื่อการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม
  2. เมื่อบุตรบุญธรรมสมรสกับผู้รับบุตรบุญธรรม กรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมิใช่เป็นบิดามารดาที่แท้จริง จึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
  3. เมื่อศาลพิพากษาให้เลิกการรับบุตรบุญธรรม

ดังนั้นการรับบุตรบุญธรรมมีผลทางกฎหมายในหลายกรณี หากประสงค์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิต่างๆ แล้วควรที่จะไปดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

 ที่มา: บทความในนิตยสาร “บันทึกคุณแม่” คอลัมส์ “กฎหมายน่ารู้” 
โดย ชัชวัสส์  เศรษฐลักษณ์ ที่ปรึกษากฎหมาย-ธุรกิจ/ ทนายความ อดีตพิธีกรรายการ 
คุยกฎหมายกับทนายมวลชน”
ฉบับเดือน สิงหาคม 2558 (Vol.23 Issue 265 August 2015/ Page 104-106)