Settaluck Legal | ข้อมูลพี่เลี้ยงเด็กที่จำเป็น
16728
post-template-default,single,single-post,postid-16728,single-format-standard,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-theme-ver-10.1.1,wpb-js-composer js-comp-ver-5.0.1,vc_responsive
 

ข้อมูลพี่เลี้ยงเด็กที่จำเป็น

ข้อมูลพี่เลี้ยงเด็กที่จำเป็น

ปัจจุบันพี่เลี้ยงเด็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน  Nursery  เนอสเซอรี่  กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมเมืองไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ครอบครัวเดี่ยว หรือกระทั่งคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในครอบครัวใหญ่ก็ไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงหาพี่เลี้ยงเด็กมาช่วยเลี้ยงได้ หลายครั้งที่เคยได้ยินข่าวพี่เลี้ยงทำร้ายเด็ก แย่งอาหารเด็กกิน ไม่เลี้ยงดูให้ดีอย่างที่ควร หรืออาจมีกรณีขโมยทรัพย์สินภายในบ้านอยู่บ่อยครั้ง คงเป็นที่ทราบกันดีว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นความผิดตามกฎหมายต่าง ๆ  และส่วนมากพี่เลี้ยงเหล่านั้นก็มักจะหายตัวตามหาตัวไม่เจอ หรือเหล่าพ่อแม่ได้แต่คิดว่าฟาดเคราะห์ไปไม่ติดตามตัว แต่คงอยากทราบมากกว่าว่าจะมีวิธีป้องกันปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร

ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่หาพี่เลี้ยงมาช่วยเลี้ยงลูกที่บ้านควรดำเนินการต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกน้อยของคุณ

หาพี่เลี้ยงโดยมีที่อ้างอิงประวัติที่มา เช่น บุคคลแนะนำ หรือมาจากศูนย์เลี้ยงเด็ก เพื่อให้ผ่านการคัดกรองมาระดับหนึ่ง แต่การแนะนำจากบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนได้เสียหรือไม่ได้รับค่าแนะนำใด ๆ คงเป็นการช่วยเหลือตามปกติหากเกิดความเสียหายขึ้นคงเรียกให้บุคคลผู้แนะนำต้องร่วมรับผิดด้วยไม่ได้เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์ในทางแพ่งที่จะต้องร่วมรับผิด แตกต่างจากพี่เลี้ยงที่ถูกส่งมาจากศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ทำหน้าที่คัดสรรหาผู้เลี้ยงเด็กให้บริการโดยรับค่าตอบแทนด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าจ้างและค่าบริการผ่านทางศูนย์รับเลี้ยงเด็ก หรือจ่ายให้กับพี่เลี้ยงเด็กโดยตรงแล้วไปทำการจ่ายค่าบริการแนะนำภายหลัง ศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ส่งพี่เลี้ยงเด็กมาจะต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายทางแพ่งหากพี่เลี้ยงเด็กที่ส่งมาก่อความเสียหายขึ้น แต่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กไม่ต้องร่วมรับผิดในความผิดอาญา เช่น กรณีทำร้ายร่างกายลูก หรือลักทรัพย์ ฯลฯ เพราะเป็นความผิดโดยพี่เลี้ยงเด็กเป็นผู้กระทำผิด ดังนั้นการหาพี่เลี้ยงเด็กผ่านจากศูนย์เลี้ยงเด็กก็น่าจะดีกว่ารับมาจากบุคคลแนะนำโดยทั่ว ๆ ไป

แต่ในความเป็นจริงศูนย์รับเลี้ยงเด็กก็อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกับพี่เลี้ยงเด็กหากเกิดกรณีความเสียหายเกิดขึ้น  จะเป็นการดีไม่น้อยหากการว่าจ้างนั้นได้แจ้งและกำชับให้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กทราบว่ามีความรับผิดชอบร่วมอยู่ด้วยเพื่อจะทำให้มีการเพิ่มมาตราฐานในการรับเลือกพี่เลี้ยงเด็ก การฝึกอบรม ควบคุมคุณภาพ

กรณีนายหน้าที่เป็นบุคคลทั่วไปไม่ใช่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กทำหน้าที่จัดส่งพี่เลี้ยงมาให้ซึ่งมีอยู่จำนวนมากที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย อีกทั้งพี่เลี้ยงเด็กที่ถูกจัดส่งมาเหล่านั้นยังมักเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไม่มีใบอนุญาตทำงาน และไม่ได้รับการฝึกสอนในการเลี้ยงเด็กอย่างถูกวิธี เป็นเพียงผู้มีประสบการณ์ในชีวิตจริงที่ได้เคยเลี้ยงเด็กมา ช่างน่ากลัวอันตรายอย่างมากแต่บรรดาคุณพ่อคุณแม่ก็ยังกล้าที่จะจ้างพี่เลี้ยงเด็กต่างด้าวเหล่านั้นกัน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วก็ควรทำบันทึกหลักฐานการจ่ายเงินให้กับนายหน้าพี่เลี้ยงนั้นเป็นหนังสือ โดยเฉพาะอย่าลืมถ่ายสำเนาบัตรประชาชนลงลายมือชื่อนายหน้าเก็บไว้ เพื่อให้ทราบว่านายหน้านั้นเป็นใครที่อาจต้องตามตัวในภายหลัง

นายหน้าเหล่านั้นเป็นเพียงแค่นายหน้าจัดหาแรงงาน อาจะไม่ต้องรับผิดกับความเสียหายที่พี่เลี้ยงเด็กได้ก่อขึ้น  แต่นายหน้านั้นจะต้องรับผิดกรณีเป็นผู้จัดหาแรงงานต่างด้าวมาทำงาน รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ที่รับแรงงานต่างด้าวไว้ทำงานด้วยอันเป็นความผิดตามกฎหมาย  หรือฟ้องนายหน้าให้ร่วมชดใช้ค่าเสียหายกับพี่เลี้ยงในกรณีที่มีเหตุการณ์ตามกฎหมายให้ร่วมรับผิดกับพี่เลี้ยงเด็ก

ทั้งนี้ไม่ควรลืมที่จะต้องกำชับให้นายหน้าทราบว่ามีความรับผิดร่วมกันกับพี่เลี้ยงเด็กหากเกิดความเสียหายขึ้นเพื่อให้นายหน้าได้กำชับพี่เลี้ยงเด็กให้ใช้ความระมัดระวังในการทำหน้าที่พี่เลี้ยงเด็ก

เก็บสำเนาบัตรประชาชน และข้อมูลที่จำเป็นของพี่เลี้ยงเด็ก เชื่อว่าคงมีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่มีสำเนาบัตรประชาชนพี่เลี้ยงเด็กอยู่ หรือไม่ทราบด้วยซ้ำว่าพี่เลี้ยงเด็กมีชื่อนามสกุลจริงอย่างไร  การสอบประวัติแบบสอบถามมีความจำเป็นยิ่งเพื่อที่จะได้รู้อุปนิสัย ความประพฤติ การศึกษา ประวัติข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลติดต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากนึกไม่ออกลองใช้แบบฟอร์มสมัครงานก็น่าจะใช้แทนได้ ไม่เพียงแต่สอบถามข้อมูลจากผู้จัดส่งพี่เลี้ยงเด็ก แต่ควรสอบถามพูดคุยโดยตรงกับพี่เลี้ยงเด็กโดยตรง เพื่อให้เห็นกิริยา นิสัย อารมณ์ อาการความพึงพอใจในการสอบแบบสอบถาม ให้พี่เลี้ยงเด็กตระหนักถึงความสำคัญในหน้าที่พี่เลี้ยงเด็กซึ่งคุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษถึงกระทั่งมีการตกลงแจกแจงหน้าที่สิ่งที่ควรและมิควรปฏิบัติในการทำหน้าที่ เพื่อให้เห็นถึงความจริงจังในการตรวจสอบการทำหน้าที่พี่เลี้ยงเด็ก ให้พี่เลี้ยงเด็กเกิดความรู้สึกใส่ใจที่จะต้องทำงานอย่างจริงจัง และเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่งสำหรับคุณพ่อและคุณแม่ผู้ว่าจ้าง

หรือรวมไปถึงการหาผู้ค้ำประกันกรณีหากทำได้ ซึ่งจะทำให้พี่เลี้ยงเด็กตั้งใจทำหน้าที่ และไม่กล้าที่จะก่อความเสียหายเกิดขึ้นในระดับที่ดีกว่ากรณีที่ไม่มีผู้ค้ำประกัน

การทำเอกสารหนังสือการว่าจ้างกับพี่เลี้ยงเด็กอาจฟังดูเป็นเรื่องประหลาดเพราะไม่น่าจะมีใครได้ทำ แต่การทำหนังสือสัญญาจ้างโดยตรง ไม่ว่ากับพี่เลี้ยงเด็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กจะส่งผลต่อความรู้สึกในความใส่ใจรับผิดชอบในการทำหน้าที่ของพี่เลี้ยงเด็กเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้จะเป็นการดีไม่น้อยหากมีการติดกล้องวงจรปิด และแจ้งให้พี่เลี้ยงทราบว่ามีการบันทึกเทปกล้องวงจรปิดเพื่อเป็นการเตือนพี่เลี้ยงเด็กมิให้กล้าที่จะแอบทำร้ายลูกน้อย การแจ้งว่ามีการติดกล้องวงจรปิดดีกว่าการแอบซ้อนกล้องให้เกิดการทำร้ายลูกน้อยก่อนแล้วจึงจับได้ไล่ออกซึ่งได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบพฤติกรรมในการเลี้ยงดูลูกน้อยได้ในช่วงที่ต้องการดูข้อมูล

หนังสือรับรองแพทย์ตรวจสอบโรคติดต่อร้ายแรง คุณแม่หลายรายอาจไม่ได้ทำในขณะรับพี่เลี้ยงเข้าทำงาน แต่ก็ควรพาพี่เลี้ยงเด็กไปตรวจสอบ หรือไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคจำเป็นต่าง ๆ ซึ่งโรงพยาบาลจะมีคำแนะนำ

            การดำเนินการกับพี่เลี้ยงเด็กกระทำผิด คุณพ่อคุณแม่คงตัดสินใจตรงกันหมดว่าต้องไล่ออก แต่ควรทำอย่างไรก่อนหลังจากการไล่ออกในขณะนั้น คงต้องพิจารณาหลายประการก่อนดำเนินการประกอบกับแต่ละสถานการณ์ เช่น ในขณะนั้นอาจมีอันตรายเพราะไม่มีใครอยู่ด้วย อาจจะทำเป็นไม่รู้เรื่องไปก่อนและให้เด็กอยู่กับคุณพ่อคุณแม่แทน  จนกว่าจะมีบุคคลอื่นที่ปลอดภัยร่วมอยู่ด้วย  กรณีหากประสงค์ดำเนินคดีควรให้ทำบันทึกรับสารภาพรวมถึงรายละเอียดการกระทำความผิดที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาและการกระทำความผิด หรือถ่ายคลิปวีดีโอกับคำรับสารภาพไว้น่าจะสะดวกที่สุด แต่หากจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดแล้วก็ควรที่จะทำเป็นหนังสือให้ลงลายมือชื่อรับผิดซึ่งง่ายต่อการดำเนินคดี พร้อมทั้งพาตัวไปสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความดำเนินคดีทันทีซึ่งอาจจะเป็นการยากลำบากในทางปฏิบัติคงต้องใช้เทคนิคในเกิดการยินยอม หรือหากกรณีร้ายแรงสามารถโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาที่เกิดเหตุเพื่อสอบข้อเท็จจริงและพาตัวพี่เลี้ยงเด็กไปสถานีตำรวจได้ แต่การดำเนินคดีนั้นคงทราบกันดีว่าต้องให้ปากคำชั้นตำรวจ และให้การในชั้นพิจารณาของศาลซึ่งใช้ระยะเวลานานในขั้นตอนทางกฎหมาย  

            กรณีไม่ประสงค์ดำเนินคดี คงเก็บข้อมูลเช่นเดิมเพียงแต่ไม่ไปแจ้งความดำเนินคดี แต่ควรไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และอบรมสั่งสอนพี่เลี้ยงเด็กนั้นให้เกิดความกลัวว่าเฉียดเข้าคุกเพื่อไม่ให้ก่อความเดือนร้อนให้กับคนอื่นอีกต่อไป

ที่มา: บทความในนิตยสาร “บันทึกคุณแม่” คอลัมส์ “กฎหมายน่ารู้” 

โดย ชัชวัสส์  เศรษฐลักษณ์ ที่ปรึกษากฎหมาย-ธุรกิจ/ ทนายความ อดีตพิธีกรรายการ 

“คุยกฎหมายกับทนายมวลชน”

ฉบับเดือน มิถุนายน 2558 (Vol.22 Issue 263 June 2015/ Page 102-103)