Settaluck Legal | ลูกผู้เยาว์ทำนิติกรรมสัญญาได้แค่ไหน
16746
post-template-default,single,single-post,postid-16746,single-format-standard,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-theme-ver-10.1.1,wpb-js-composer js-comp-ver-5.0.1,vc_responsive
 

ลูกผู้เยาว์ทำนิติกรรมสัญญาได้แค่ไหน

ลูกผู้เยาว์ทำนิติกรรมสัญญาได้แค่ไหน

เด็ก ซึ่งเป็นผู้เยาว์ หลายคนคงสงสัยว่าผู้เยาว์มีผลอย่างไรที่แตกต่างกับเด็กทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน  ตามกฎหมายแล้วเด็กที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ถือว่าเป็นผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมาย  หลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจว่า ผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายคืออะไร  ไม่น่าเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตประจำวัน  แต่แท้จริงแล้วหากเด็กที่โตหน่อยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระดับวัยรุ่นแล้วจะมีการทำนิติกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีกฎหมายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง  คงจะสงสัยอีกว่าลูกโตมาจนแต่งงานแล้วยังไม่เคยทำนิติกรรมใด ๆ เลย 

นิติกรรม คือ การกระทำที่มีผลทางกฎหมาย ทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างกัน เช่น การซื้ออาหาร ซื้อเสื้อผ้า  รองเท้า  ขนม ขึ้นรถแท๊กซี่ ต่าง ๆ  ล้วนแต่เป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นมีโอกาสเกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ทั้งสิ้น ซึ่งตามกฎหมายให้สิทธิผูเยาว์นั้นสามารถทำได้หากเป็นการกระทำสมแก่ฐานะของเด็กนั้น และเป็นการกระทำอันจำเป็นในการดำรงชีพ แต่หากการกระทำใดที่ไม่สมควรเกินแก่ฐานะของเด็กนั้นเองแล้วการกระทำนั้นจะเป็นโมฆียะ หมายความว่าจะสามารถถูกบอกเลิกสัญญาได้ เช่น  เด็กเป็นลูกคนรวยเป็นที่รู้จักในสังคมแต่ไม่มีเงินเป็นของตนเอง การซื้อของต้องเป็นของพ่อแม่ เมื่อคนขายรู้ว่าพ่อแม่เด็กมีความสามารถที่จะซื้อรถคันนั้นได้ จึงได้ขายรถหรูให้เด็กขับกลับบ้านเช่นนี้ สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆียะ พ่อแม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อบอกเลิกสัญญาก็ต้องนำของไปคืนผู้ขาย หากมีการสึกหรอก็ต้องชดใช้ความเสียหายในส่วนนั้นไป ค่ารถที่ต้องจ่ายก็เป็นหนี้ของเด็กไม่ใช่หนี้ของพ่อแม่ต้องรับภาระมาจ่ายเงินให้แทน

ในทางกลับกันเด็กผู้เยาว์อาจได้รับมรดกทรัพย์สิน หรือจากการให้ของบิดามารดาจนเป็นเศรษฐีได้  แล้วเด็กสามารถทำพินัยกรรมได้หรือไม่  ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว เช่น ทำพินัยกรรม การรับรองบุตรว่าเป็นบุตรของตนเอง เป็นต้น

กฎหมายยังกำหนดให้เด็กอายุมากกว่า 17 ปีสามารถบรรลุนิติภาวะ ทำนิติกรรมได้เองโดยการสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองก่อน เด็กนั้นก็จะบรรลุนิติภาวะได้

ในกรณีที่เด็กได้ทรัพย์สินมาไม่ว่าจากมรดก หรือจากการให้ของพ่อแม่แล้วกลายเป็นทรัพย์สินของเด็กไปนั้น กรณีที่เด็กมีอสังหาริมทรัพย์ หรือพ่อแม่จะจำหน่าย บ้าน ที่ดิน ของผู้เยาว์นั้น จะกระทำการเองมิได้ต้องขออนุญาตจากศาล เพื่อศาลได้ให้ความเห็นชอบ เป็นการป้องกันทรัพย์สินของเด็กตามกฎหมาย

นอกจากการขายอสังหาริมทรัพย์แล้ว กฎหมายยังกำหนดอีกว่าการกระทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ พ่อแม่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตเสียก่อน

มาตรา 1574 นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
(4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มา ซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจาก ทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
(5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(6) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
(7) ให้กู้ยืมเงิน
(8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อ การกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
(9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่ รับการให้โดยเสน่หา
(10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับ ชำระหนี้ หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
(11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่ บัญญัติไว้ใน มาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
(12) ประนีประนอมยอมความ
(13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

ดังนั้นกรณีพ่อแม่จะให้ทรัพย์สินต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต้องขออนุญาตศาลตามข้างต้นแล้วควรวางแผนให้รอบขอบถึงอนาคตว่าจะมีการกระทำใด ๆ ที่จะต้องขออนุญาตศาลหรือไม่ หรือยังไม่โอนให้แก่เด็กจนกว่าเด็กจะบรรลุนิติภาวะเสียก่อนจะเป็นประโยชน์มากกว่า

 ที่มา: บทความในนิตยสาร “บันทึกคุณแม่” คอลัมส์ “กฎหมายน่ารู้” 
โดย ชัชวัสส์  เศรษฐลักษณ์ ที่ปรึกษากฎหมาย-ธุรกิจ/ ทนายความ อดีตพิธีกรรายการ 
คุยกฎหมายกับทนายมวลชน”
ฉบับเดือน กันยายน 2558 (Vol.23 Issue 266 September 2015/ Page 110-111)