Settaluck Legal | พ่อแม่ทะเลาะกันหนูน้อยต้องอยู่กับใคร
16723
post-template-default,single,single-post,postid-16723,single-format-standard,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-theme-ver-10.1.1,wpb-js-composer js-comp-ver-5.0.1,vc_responsive
 

พ่อแม่ทะเลาะกันหนูน้อยต้องอยู่กับใคร

พ่อแม่ทะเลาะกันหนูน้อยต้องอยู่กับใคร

ปัญหาสามีภรรยาเป็นเรื่องเหมือนลิ้นกับฟันที่ต้องกระทบกระทั้งกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในครั้งที่รุนแรงจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้แล้ว บาปเคราะห์จึงตกอยู่กับเหล่าเทวดา นางฟ้าตัวน้อย ว่าใครจะเป็นคนรับเลี้ยงซึ่งเป็นส่วนน้อยที่จะปัดภาระการเลี้ยงลูกให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง แต่หากเมื่อทั้งพ่อและแม่ต่างต้องการเลี้ยงลูกด้วยตนเอง แต่พ่อและแม่ไม่สามารถอยู่รวมกันได้ เหล่าเทวดานางฟ้องตัวน้อยจะอยู่กับใคร

หลายคู่ในเบื้องต้นแยกกันอยู่ยังสามารถที่จะไปเยี่ยมลูกน้อยได้อย่างไม่มีกฎเกณฑ์มากเท่าไหร่ แต่ปัญหาเกิดเมื่อมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเช่น ลูกเริ่มโตต้องเข้าโรงเรียนทั้งพ่อและแม่อยากให้ลูกอยู่ใกล้บ้านตนเอง  อีกฝ่ายมีคู่สมรสใหม่อีกฝ่ายจึงไม่อยากให้ลูกน้อยอยู่ด้วย  จึงเกิดปัญหาการแย่งตัวลูกน้อยไว้ในการเลี้ยงดูแต่เพียงผู้เดียว ปัญหาการใช้อำนาจปกครองทางกฎหมายจึงเริ่มเกิดขึ้น ซึ่งหากเจอที่ปรึกษากฎหมายแนะนำในทางออกที่สมานฉันเป็นมิตรก็ดี แต่หากเจอทนายความยุยงให้มีการฟ้องร้องกันขึ้นมาก็คงจะลำบาก  โดยอาจแยกในเบื้องต้นได้สองกรณีคือ กรณีพ่อแม่ที่จดทะเบียนสมรส กับพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ใครจะมีสิทธิในการเลี้ยงดูลูกได้ดีกว่ากัน

กรณีพ่อและแม่จดทะเบียนสมรสกันนั้น ทั้งพ่อและแม่ต่างมีสิทธิใช้อำนาจปกครองด้วยกันทั้งสองฝ่าย แตกต่างกับกรณีที่มิได้จดทะเบียนสมรส แม่เท่านั้นที่ถือว่าเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้พ่อจะระบุไว้ในใบเกิดว่าเป็นบิดาก็ตามก็ไม่ได้รับสิทธิในการใช้อำนาจปกครอง เว้นเสียแต่ได้มีการจดทะเบียนรับรองบุตรพ่อจึงมีสิทธิในการใช้อำนาจปกครองบุตร

การใช้อำนาจปกครองบุตรคืออะไร เข้าใจง่ายๆคือการกำหนดการใช้ชีวิตลูกน้องในชีวิตประจำวัน เช่น การกำหนดที่อยู่  เลือกโรงเรียน  เรียนพิเศษ  การลงโทษ การอบรมสั่งสอน  เป็นต้น

ฟังดูก็ยังไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากมาย แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน แล้วคุณพ่อมาอุ้มลูกน้อยจากโรงเรียนไปอยู่ด้วยโดยที่คุณแม่ไม่สามารถติดตามตัวลูกน้อยคืนได้ คุณแม่จะทำอย่างไร  เชื่อว่าคุณแม่แทบทุกคนคงเสียใจไม่เป็นอันกินอันนอน ไม่มีจิตใจในการทำอะไรนอกจากการติดตามหาตัวลูกน้อย ติดต่อฝ่ายพ่อเพื่อขอลูกคืนแต่จะได้รับการปฏิเสธหากไม่ยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายพ่อ นี่คือเหตุการณ์คดีที่มีอยู่จริง ความสำคัญของการจดทะเบียนสมรส สิทธิหน้าที่ของฝ่ายพ่อเข้ามาเกี่ยวข้องทันที

กรณีที่พ่อและแม่จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งพ่อและแม่ต่างมีสิทธิในการใช้อำนาจปกครองบุตรด้วยกันทั้งคู่ การที่จะให้ลูกอยู่ในการปกครองของแม่ทั้งหมด หรือบางส่วนคงต้องพึ่งอำนาจศาลในการตัดสิน แต่คงใช้เวลาไม่น้อยกว่าครึ่งปีจนถึง1ปีตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย คุณแม่คงขาดใจตายเสียก่อนที่ศาลจะตัดสิน และกลายเป็นอำนาจต่อรองของฝ่ายพ่อในการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ  ซึ่งจะทำให้คุณแม่ยอมทุกอย่างเพื่อให้ได้พบหน้าลูกโดยไม่ต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาตัดสิน จนทำให้ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดเพราะเทคนิคในทางกฎหมาย

ทางแก้ฝ่ายแม่สามารถขอศาลให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีให้ลูกน้อยอยู่กับฝ่ายแม่โดยให้ฝ่ายพ่อนำลูกน้อยมาส่งมอบให้ฝ่ายแม่ได้โดยนำพยานหลักฐานถึงความจำเป็นต่าง ๆ เข้าเสนอต่อศาล ซึ่งในกรณีลูกน้อยยังอายุไม่มากแล้วฝ่ายแม่น่าจะเหมาะสมในการเลี้ยงดูลูกมากกว่าฝ่ายพ่อ จึงเป็นช่องทางในการที่ใช้อำนาจศาลมาช่วยในกรณีดังกล่าวได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมแล้วแต่กรณี

ในกรณีที่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน และมิได้มีการจดทะเบียนรับรองบุตร พ่อไม่มีสิทธิในการใช้อำนาจปกครองบุตรตามกฎหมาย ฝ่ายแม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้พ่อส่งลูกคืนต่อศาลได้ ซึ่งฝ่ายพ่อก็มักจะมีคำฟ้องตามมาเรื่องให้มีการรับรองว่าเป็นบุตรของฝ่ายชาย จนนำมาสู่การพิจารณาเรื่องการแบ่งอำนาจการปกครองบุตรและค่าเลี้ยงดูบุตร

ทั้งนี้หากถึงที่สุดเจรจาตกลงกันไม่ได้แล้ว ก็คงเป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรมจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตัดสินว่าลูกน้อยควรอยู่ในการเลี้ยงดูของใคร หรือแบ่งกันอย่างไร จากการพิจารณาถึง ฐานะการเงิน  ความเป็นอยู่  สิ่งแวดล้อม ความเหมาะสม ความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ตัวลูกน้อยได้รับประโยชน์มากที่สุด ถึงกระทั้งในกรณีที่มีความพร้อมพอๆกันศาลอาจเรียกลูกน้อยมาให้ข้อมูลศาลว่าอยากอยู่กับใครก็เป็นไปได้ กระบวนการตามใจจนลูกเสียคนเพื่อให้ลูกเลือกฝ่ายตนจึงเกิดขึ้นในทางคดีความที่มีอยู่จริง

กรณีคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าข่ายมีโอกาสเสี่ยงอาจเกิดการแย่งอำนาจปกครองบุตรแล้วควรเตรียมความพร้อมสำหรับให้ศาลพิจารณาตัดสินว่าบุตรควรจะอยู่กับใครอย่างไร  หรือใช้วิธีร่วมกันตกลงด้วยความสงบแล้วจูงมือไปจดทะเบียนแบ่งการใช้อำนาจปกครองบุตรต่อเจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องใช้บริการศาลยุติธรรม หรือไม่อยากเกิดความเสี่ยงที่จะเสียสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรก็ลองปรับความเข้าใจหันหน้าเข้าหากันดีกว่าวุ่นวายใช้กฎหมายเป็นที่พึ่ง อันจะตามมากับปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย

ที่มา: บทความในนิตยสาร “บันทึกคุณแม่” คอลัมส์ “กฎหมายน่ารู้” 

โดย ชัชวัสส์  เศรษฐลักษณ์ ที่ปรึกษากฎหมาย-ธุรกิจ/ ทนายความ อดีตพิธีกรรายการ 

“คุยกฎหมายกับทนายมวลชน”

ฉบับเดือน พฤษภาคม 2559 (Vol.22 Issue 262 May 2015/ Page 104-105)