Settaluck Legal | คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะได้สิทธิอะไรเพิ่มเติมจากนายจ้างบ้าง
16740
post-template-default,single,single-post,postid-16740,single-format-standard,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-theme-ver-10.1.1,wpb-js-composer js-comp-ver-5.0.1,vc_responsive
 

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะได้สิทธิอะไรเพิ่มเติมจากนายจ้างบ้าง

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะได้สิทธิอะไรเพิ่มเติมจากนายจ้างบ้าง

คุณแม่ส่วนใหญ่ขณะตั้งครรภ์ยังต้องทำงานอยู่จนครบกำหนดคลอด  การตั้งครรภ์ย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานอาจจะลดน้อยลง ลักษณะหน้าที่ในการทำงานเดิมอาจจะไม่เหมาะหรือเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์  ซึ่งอาจทำให้นายจ้างได้ประโยชน์ในการงานที่จ้างลดน้อยลง จนอาจถูกกลั่นแกล้งจากนายจ้าง ดังนั้นกฎหมาย จึงกำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 เพื่อให้คุณแม่ที่อยู่ในระยะเวลาการตั้งครรภ์ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงาน และได้ใช้สิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ก. สิทธ์ในการทำงานล่วงเวลา

กรณีที่คุณแม่มีครรภ์ท่านใดขยันอยากทำงานล่วงเวลาเพื่อเก็บเงินนั้น ทางกฎหมายสามารถทำงานล่วงเวลาได้ แต่ต้องทำงานในตำแหน่งที่ไม่อันตรายใช้แรงงานหนัก อาจจะเป็นงาน ผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ หรืองานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชี แคชเชียร์ ประชาสัมพันธ์ หรืองานที่ไม่ต้องใช้แรงงานทางร่างกาย เป็นต้น โดยนายจ้างจะต้องยินยอมตกลงให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์นั้นทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้เท่าที่ไม่มีผลกระทบต่อ สุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์โดยได้รับความยินยอมก่อน

แต่หากลักษณะงานเป็น งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน,งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ,งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกินสิบห้ากิโลกรัม, งานที่ทำในเรือ,งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ไม่ได้เพราะกฎหมายห้ามมิให้นายจ้างให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 4 ทุ่ม ถึงเวลา 6 โมงเช้า หรือทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด หรือทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังที่กล่าวมาข้างต้นไว้  (มาตรา39) แม้คุณแม่ยินยอมก็มิอาจทำได้

ข้อแนะนำ หากเป็นกรณีที่ว่า นายจ้าง  ขอให้คุณแม่ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ทำงานล่วงเวลา ไม่ว่ากรณีใด ๆ  ควรที่จะให้นายจ้างทำหนังสือหรือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่านายจ้างขอให้ ทำงานล่วงเวลาไว้ด้วย เพื่อเป็นประโยชน์แก่คุณแม่ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยระบุเหตุที่นายจ้างขอให้ทำงานล่วงเวลา และรายละเอียดของงานวันเวลาที่ให้ทำอย่างชัดเจน  เนื่องจากหากเกิดอันตรายขึ้นแล้วนายจ้างจะอ้างว่าไม่ทราบว่ามีการตั้งครรภ์จึงไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในการทำงานล่วงเวลา

ข. สิทธ์ในการลาคลอด

คุณแม่ตั้งครรภ์มีสิทธิที่จะลาเพื่อคลอดบุตร ครรภ์หนึ่งลาได้ไม่เกิน 90 วัน เมื่อกฎหมายได้กำหนดให้คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถลาคลอดได้ทั้งก่อนและหลังคลอด เช่น อาจลาก่อนวันที่ได้กำหนดคลอด  2 สัปดาห์เพื่อที่จะเตรียมตัวคลอด  ถือได้ว่าวันที่ลา 2 สัปดาห์  เป็นวันลาคลอดด้วยเช่นกัน นายจ้างจะห้ามไม่ให้ลาไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย การที่คุณแม่ลาไปไม่ถือเป็นการขาดงาน  แต่เมื่อนับรวมกันแล้วต้องไม่เกิน  90  วัน  และการนับวันลาคลอดให้นับวันหยุดในระหว่างที่ลาด้วย ตัวอย่างเช่น  คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ใกล้วันที่หมอกำหนดนัดคลอด  และมีอาการพร้อมคลอดจึงขอลาคลอด  คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ย่อมมีสิทธิลาก่อนการคลอดได้   แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน  90  วัน

ข้อแนะนำ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก็ควรแจ้งให้นายจ้างทราบโดยเป็นลายลักษณ์อักษรโดยมีพยานเซ็นยืนยันพร้อมถ่ายสำเนาเก็บไว้ เพื่อที่จะได้มีหลักฐานว่าได้ขอลาคลอดทำถูกต้องตามกฎระเบียบของนายจ้าง มิใช่อยู่ดี ๆ ก็หายไปเลยโดยมิบอกกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งอาจทำให้นายจ้างได้รับผลกระทบได้เพราะอาจหาคนมาแทนชั่วคราวในตำแหน่งที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เคยทำอยู่ไม่ทันได้

ค. สิทธ์ในการเปลี่ยนลักษณะของงานที่เคยทำ

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถขอเปลี่ยนลักษณะของงานเป็นกรณีชั่วคราวได้ ในช่วงก่อนหรือหลังคลอด โดยจะต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้ หากนายจ้างไม่ให้โดยไม่มีเหตุผล ทั้ง ๆ ที่มีใบรับรองแพทย์ยืนยัน นายจ้างต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา144วรรค1) แต่การฝ่าฝืนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตายต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ นายจ้างต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา144 วรรค2)

ข้อแนะนำ ควรทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมทั้งพยานในการขอเปลี่ยนลักษณะงานส่งถึงนายจ้างพร้อมทั้งให้ถ่ายสำเนาเอกสารทุกฉบับที่ส่งให้แก่นายจ้าง เพื่อให้มีหลักฐานว่าได้ยื่นขอนายจ้างในการขอเปลี่ยนงานแล้ว

ง.สิทธิ์ในการได้รับค่าจ้างระหว่างลาคลอด

นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่คุณแม่ซึ่งตั้งครรภ์ ในวันลาเพื่อคลอดลูกเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาด้วย แต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน ซึ่งการลาเพื่อคลอดแต่ละครั้งนั้น  คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง  จำนวน  45  วัน  ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยให้คำนวณค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ได้ลา ส่วนวันลาที่เหลือหากลูกจ้างต้องหยุดงานต่อไป  ลูกจ้างมีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร กับประกันสังคม ในอัตราร้อยละ  50  ของค่าจ้างเป็นเวลา  90  วันได้ตามเงื่อนไขของประกันสังคม  ทั้งนี้หากนายจ้างฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท (มาตรา 146)  และต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่คุณแม่ซึ่งตั้งครรภ์ ที่ควรจะได้รับตามกฎหมายอีกด้วย

จ.. สิทธิ์ในการทำงานในขณะตั้งครรภ์

นายจ้างบางคนเห็นว่า คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะทำงานได้ไม่ดี เท่าเดิม หรือมาขอเปลี่ยนลักษณะงาน หรือเรื่องมากให้ออกจากงาน เพราะต้นเหตุตั้งครรภ์ เช่นนี้กฎหมายไม่ให้สิทธินายจ้างเลิกจ้าง เพราะเหตุตั้งครรภ์ และจะมาอ้างเหตุผลให้ออกจากงานไม่ได้  หากนายจ้างฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา

ดังนั้นเมื่อคุณแม่ได้ตั้งครรภ์แล้วนอกจากจะแจ้งให้เพื่อนร่วมงานทราบแล้ว ควรทำหนังสือแจ้งให้แก่หัวหน้างานทราบเป็นทางการพร้อมทั้งเก็บหลักฐานไว้ เพื่อให้นายจ้างต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ไม่สามารถอ้างเหตุที่ว่าไม่ทราบการตั้งครรภ์ของพนักงานได้  และเพื่อประโยนช์ของคุณแม่เองในการได้รับสิทธิพิจารณาการช่วยเหลือจากนายจ้างที่ดีในส่วนของสวัสดิการของคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือจะทำการร้องขอ เช่น ที่จอดรถ เวลาพักที่เพิ่มขึ้น  เป็นต้น ซึ่งแล้วแต่ดุลพินิจของนายจ้างแต่ละสถานประกอบการ

ที่มา: บทความในนิตยสาร “บันทึกคุณแม่” คอลัมส์ “กฎหมายน่ารู้” 

โดย ชัชวัสส์  เศรษฐลักษณ์ ที่ปรึกษากฎหมาย-ธุรกิจ/ ทนายความ อดีตพิธีกรรายการ 

“คุยกฎหมายกับทนายมวลชน”

ฉบับเดือน มีนาคม 2559 (Vol.23 Issue 272 March 2016/ Page 96-98)